ทำไมเราต้องรู้ เกี่ยวกับราคาศุลกากร
ตอนนี้ธุรกิจ อีคอมเมิร์ซ (e-Commerce) กำลังมาแรง หลายท่านสั่งซื้อสินค้าเองจากต่างประเทศ ผ่าน Platform eCommerce ไม่ว่าจะเป็น Alibaba , Amazon หรือ platform อื่นๆ และมักจะสั่งซื้อสินค้าเพราะเห็นว่าราคาถูกกว่าในไทย โดยบางครั้งอาจลืมนึงถึงว่าจะต้องเสียภาษีนำเข้า หรือบางครั้งคำนวณไว้แล้ว แต่ไม่ตรงตามที่เจ้าหน้าที่กรมศุลกากรเรียกเก็บ และประเด็นที่เราเห็นกันบ่อยๆ สำหรับผู้นำเข้ารายย่อย เช่น
– จ่ายภาษีนำเข้าแพงเกินไป ภาษีแพงเกือบเท่าราคาสินค้า ทำไมต้องเสียภาษีนำเข้าแพง
– สินค้าราคาไม่เกิน 1,500 บาท แต่ทำไมเสียภาษีนำเข้า
– ได้ของขวัญ ของฝากส่งมาจากต่างประเทศ แต่กลับต้องเสียภาษี
– ได้รับของขวัญเป็นของแฮนด์เมด จากต่างประเทศ จะใช้ฐานราคาอะไรในการคำนวณภาษี
-ตอนสั่งซื้อสินค้า ทางผู้ขายแจ้งว่าฟรีค่าส่ง (FREE SHIPPING ) แล้วทำไมถึงนำค่าขนส่งมาคิดภาษี
-นำเข้าของมือสอง เสื้อผ้ามือสอง แต่สภาพดี แล้วต้องคำนวณภาษีอย่างไร
และอีกหลายประเด็นที่ผู้นำเข้ารายย่อยเจอ
บทความนี้ทรานสปีดจะให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับภาษีนำเข้า
เริ่มต้นจาก ภาษีหลักๆ ที่เราต้องชำระ เมื่อนำเข้า
VAT จัดเก็บจากมูลค่าของการซื้อขายสินค้า
DUTY อากรขาเข้า หรือขาออก ซึ่งอากรจะต่างกันไปตามประกาศการนำเข้าของสินค้าต่างๆ ตามกรมศุลกากร
นำเข้าสินค้า กรมศุลกากรจะใช้ราคาใดในการประเมินภาษี
ก่อนอื่นเลย เราต้องรู้ก่อนว่าสินค้า หรือ พัสดุที่เรานำเข้า นั้นอยู่ในพิกัดศุลกากรอะไร
พิกัดศุลกากร ( HS CODE ) จึงมีความสำคัญในการหาอัตรา การคำนวณภาษีขาเข้า
วิธีเช็คพิกัดศุลกากร
สามารถเช็คข้อมูลจากได้ตาม link นี้ ค้นหาพิกัดอัตราศุลกากร
เมื่อได้พิกัด เราจะได้อัตราภาษีอากร
วิธีคำนวนภาษีนำเข้า
วิธีการคำนวณ
ค่าสินค้า + ประกันภัย + ค่าขนส่งระหว่างประเทศ = CIF
ราคา CIF x อัตราภาษีขาเข้า = อากรขาเข้า
(ราคา CIF + อากรขาเข้า) x อัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม = ภาษีมูลค่าเพิ่ม
อากรขาเข้า + ภาษีมูลค่าเพิ่ม = ค่าภาษีทั้งหมดที่ต้องชำระ
รายละเอียดวิธีการคำนวณภาษีนำเข้าเพิ่มเติม
เอกสารที่ใช้ในการประเมินภาษี
- ใบแจ้งรับของ
- หลักฐานการสั่งซื้อหรือ invoice
ที่สำคัญเราต้องรู้ว่า กรมศุลกากรจะใช้ราคาใดในการประเมินภาษี
ในกรณีของนำเข้า หมายถึง ราคาของของเพื่อความมุ่งหมายในการจัดเก็บอากร ปัจจุบันประเทศไทยใช้ราคาศุลกากรที่เรียกว่า “ระบบราคาแกตต์ (GATT Valuation)” ขององค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) ในการกำหนดราคาสินค้าขาเข้า ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามพันธกรณีความตกลงว่าด้วยการนำมาตรา 7 ของความตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้า 1994 มาถือปฏิบัติ (Agreement on Implementation of Article VII of the General Agreement on tariffs and Trade 1994) ปกติการกำหนดราคาศุลกากรจะอยู่บนพื้นฐานของราคาซื้อขายของที่นำเข้า ซึ่งเป็นราคาที่ผู้ซื้อจ่ายหรือ พึงจ่ายจริงให้กับผู้ขายในต่างประเทศ อย่างไรก็ดี ราคาซื้อขายของที่นำเข้านั้น จะอยู่ภายใต้เงื่อนไขบางประการ เช่น การซื้อขาย ผู้ซื้อกับผู้ขายต้องไม่มีความสัมพันธ์กัน หรือการซื้อขายนั้นต้องไม่มีเงื่อนไขอย่างอื่นอีก
การกำหนดราคาศุลกากรตามหลักการของแกตต์ กำหนดจาก 6 วิธี ดังนี้
วิธีที่ 1 ราคาซื้อขายของที่นำเข้า (Transaction value) หมายถึง ราคาซื้อขายที่ผู้ซื้อสินค้าได้ชำระจริงหรือที่จะต้องชำระให้กับผู้ขายในต่างประเทศสำหรับของที่นำเข้า ซึ่งได้มีการปรับราคาหรือได้นำมูลค่าหรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ ไปรวมด้วย เช่น ค่าวัสดุเสริม ค่านายหน้า หรือค่าสิทธิ เป็นต้น
วิธีที่ 2 ราคาซื้อขายของที่เหมือนกัน (Transaction value of Identical Goods) หมายถึง ราคาซื้อขายของที่มีลักษณะเหมือนกันทุกด้านกับของที่นำเข้า ไม่ว่าจะเป็นทางกายภาพ คุณภาพ และชื่อเสียง และต้องผลิตขึ้นในประเทศเดียวกันกับของนำเข้าด้วย ทั้งนี้ โดยให้คำนึงถึงค่าประกันภัย ค่าขนส่งของที่นำเข้ามายังด่านศุลกากรที่นำของเข้า ค่าขนของลง ค่าขนของขึ้น และค่าจัดการต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการขนส่งของมายังด่านศุลกากรที่นำของเข้าด้วย
วิธีที่ 3 ราคาซื้อขายของที่คล้ายกัน (Transaction value of Similar Goods) หมายถึง ราคาซื้อขายของที่ไม่เหมือนกันครบทุกด้านกับของที่นำเข้า แต่มีลักษณะหรือใช้วัสดุที่เป็นส่วนประกอบเหมือนกัน ผลิตในประเทศเดียวกัน และทำหน้าที่อย่างเดียวกันหรือทดแทนกันได้ในทางการค้า ทั้งนี้ โดยพิจารณาถึงคุณภาพ ชื่อเสียง และเครื่องหมายการค้าของของที่นำเข้ากับของนั้น
วิธีที่ 4 ราคาหักทอน (Deductive Value) หมายถึง ราคาที่กำหนดขึ้นโดยใช้ราคาซื้อขายต่อหน่วยของของที่นำเข้า หรือราคาซื้อขายต่อหน่วยของของที่เหมือนหรือของที่คล้ายกันที่ได้ขายไปในประเทศไทย โดยหักทอนค่าใช้จ่ายบางส่วนออกไป เช่น ค่านายหน้า หรือกำไรและค่าใช้จ่าย ค่าขนส่งและค่าประกันภัยที่เกิดขึ้นในราชอาณาจักร ค่าภาษีอากรในประเทศไทย มูลค่าเพิ่มของสินค้าที่เกิดขึ้นจากการประกอบหรือผ่านกรรมวิธีเพิ่มเติม
วิธีที่ 5 ราคาคำนวณ (Computed Value) หมายถึง ราคาที่กำหนดขึ้นจากต้นทุนการผลิตของสินค้าที่นำเข้า บวกกับกำไรและค่าใช้จ่ายทั่วไปที่รวมอยู่ตามปกติในการขายจากประเทศส่งออกมายังประเทศไทย รวมทั้งค่าภาชนะบรรจุ ค่าประกันภัย และค่าขนส่ง
วิธีที่ 6 ราคาย้อนกลับ (Fall Back Value) หมายถึง การกำหนดราคาโดยนำหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการกำหนดราคาตามวิธีที่ 1-5 มาใช้โดยผ่อนปรนเพื่อการกำหนดราคาอย่างสมเหตุสมผลวิธีการกำหนดราคาศุลกากร
หากมีข้อสงสัย สามารถสอบถาม TRANSPEED ได้โดยตรงเลยนะคะ
ขอบคุณข้อมูล